ดูแลข้อเข่า ไม่ให้เสื่อม
‘หัวเข่า’ เป็นอวัยวะในร่างกายที่เหมือนกับการปิดทองหลังพระ เพราะไม่ได้เห็นการใช้ประโยชน์ได้โดยตรง เหมือนปาก นิ้ว มือ หรือเท้า จนบางครั้งเราก็เกือบลืมความสำคัญของเจ้าอวัยวะชิ้นนี้ไป จนกระทั่งจู่ๆ ข้อเข่าก็เกิดปวดบวมร้อน เหยียดได้ไม่สุด นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนจากอวัยวะชิ้นนี้ว่ากำลังต้องการความช่วยเหลือ
รองศาสตราจารย์ นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการกองทุน สสส. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก ข้อ และวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้อธิบายว่า ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคด้านข้ออันดับ 1 ของคนไทย มักเกิดในช่วงอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน ก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการ ข้อเข้าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ เพราะ ข้อเข่า เป็นส่วนที่ถูกใช้งานมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง กระโดด ลุก นั่ง ข้อเข่าล้วนต้องรับน้ำหนักตัวของคนๆ นั้นและแรงกดกระแทกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสึกหรอ และการสึกหรอที่กระดูกรอบๆ ข้อเข่านี้เอง ที่ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อเข่า
ข้อเข่าเสื่อมสามารถส่งต่อทางกรรมพันธุ์ได้ แม้จะไม่เต็ม 100% แต่หากคุณยาย คุณย่าเป็นก็อาจส่งผลให้ลูกหลานเป็นได้เร็วกว่าปกติ
#อาการบอกโรคข้อเข่าเสื่อม
✴️ข้อฝืดขณะเคลื่อนไหว อาจมีความรู้สึกเจ็บบ้าง
✴️รู้สึกมีเสียงเสียดสีจากภายในข้อ แต่ไม่ใช่เสียงดังกรอบแกรบเวลาขยับ หากเป็นเสียงที่หูได้ยินเวลาขยับนั่นอาจบอกว่ากล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ข้อเข่าหย่อน ไม่กระชับ
✴️มุมองศาการเคลื่อนไหวลดลง
✴️งอเข่า เหยียดข้อได้ไม่สุดเหมือนเคย
✴️ปวดเข่า ตึงน่อง เมื่อยน่อง
✴️เข่าบวม รู้สึกเคลื่อนไหวแล้วไม่มั่นคง เหมือนเข่าหลวม
✴️เข่าผิดรูป โก่งออกนอก
#พฤติกรรมทำซ้ำที่ยิ่งทำก็ยิ่งทำร้ายข้อเข่า
🧘♀️นั่งงอเข่ามากกว่า 90 องศา เช่น นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งยองๆ คลานเข่า คุกเข่า หรือเคยเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณดังกล่าว
🤸♀️การกระโดด ก็เป็นหนึ่งพฤติกรรมที่ทำร้ายข้อเข่า แม้การกระโดดจะมีแรงอัดกระแทกประมาณ 3-5 เท่า ในขณะที่ความจริงข้อเข่าสามารถรับแรงได้ถึง 7 เท่า แต่หากทำซ้ำบ่อยๆ กระดูกส่วนที่ทำหน้าที่รองรับก็จะสึกหรอเร็วขึ้น
🐻การที่เรามีน้ำหนักตัวมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เข่าต้องทำหน้าที่รับแรงกดกระแทกในแต่ละอิริยาบถในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน หรือนั่ง จะเห็นได้ว่าคุณหมอมักจะแนะนำให้ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดีสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม
#วิธียืดระยะให้ข้อเข่าอยู่กับเราไปนานๆ
✨พยายามเลี่ยงการนั่งงอเข่าเกิน 90 องศา หากต้องงอเข่านานๆ ให้ค่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถแบบช้าๆ
✨ลดหรือควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดีหรือไม่มากเกินไป
✨บริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่าให้แข็งแรง เช่น ยืนแกว่งแขน โยคะ ไทเก๊ก จ๊อกกิ๊งเบาๆ แอโรบิก ยืดเหยียดกล้ามเนื้อขา
✨กินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี และแคลเซียม
อย่างไรก็ตาม “โรคข้อเข่าเสื่อม” เป็นโรคด้านกระดูกและข้อที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถยืดระยะให้เกิดช้าลงได้ตามข้อมูลข้างต้น ที่สำคัญ เลือกทานอาหารที่ดี มีประโยชน์และสารอาหารบำรุงร่างกาย ออกกำลังกายตามความเหมาะสม ไม่ต้องหนักหน่วงมาก แค่ขอให้ร่างกายได้ขยับ เรียกเหงื่อได้เล็กน้อยประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพียงเท่านี้ไม่ว่าจะเป็นวัยเก๋หรือวัยเก๋า ก็มีกระดูกที่แข็งแรงและมีสุขภาพร่างกายที่ดี ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ที่สามารถป้องกันได้แล้ว
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th